กลุ่มคนเหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากแสงสีฟ้าที่มาจากหน้าจออุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ต่างๆ ส่งผลให้เกิดผลเสียต่อดวงตา สมอง และส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ดังนี้
แสงสีฟ้าทำให้เสี่ยงโรคจอประสาทตาเสื่อม
การที่ Genติดจอ ได้รับแสงสีฟ้าจากหน้าจอโทรศัพท์มือถืออย่างต่อเนื่อง หรือเป็นเวลานานเกินไป มีส่วนทำให้เซลล์ต่าง ๆ ในดวงตาถูกทำลาย เนื่องจากในแสงสีฟ้ามีคลื่นแสงพลังงานสูงเหนี่ยวนำทำให้เกิดการสร้าง Free Radical หรือ อนุมูลอิสระในเซลล์ของจอประสาทตา ทำให้เซลล์ค่อย ๆ เสื่อมลง และเกิดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้จอประสาทตาเสื่อมเมื่อมีอายุมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้ [3]
แสงสีฟ้าก่อให้เกิดอาการตาล้า
ดวงตาต้องทำงานหนักมากจากการเพ่งมองภาพบนหน้าจอมือถือที่ประกอบขึ้นมาจากพิกเซลเล็ก ๆ ที่สั่นไหวอยู่ตลอดทุกวินาที อีกทั้งคุณสมบัติของแสงสีฟ้าที่มีคลื่นความยาวสั้นที่สุดที่ทำให้การกระจายของแสงสูงกว่าแสงสีอื่น ๆ นั้น ส่งผลให้ระบบการทำงานของดวงตาทำงานลำบาก เกิดปัญหาในการโฟกัสภาพบนจอ ความคมชัดของภาพอาจลดลง หรือเกิดภาพเบลอและทำให้เกิดภาวะดวงตาอ่อนล้าได้ และการเพ่งมองหน้าจอมือถือเป็นเวลานาน ยังก่อให้เกิดผลเสียอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย เช่น อาการปวดหัว ปวดไหล่ มีอาการระคายเคืองตา เจ็บตา ตาพร่าหรือเห็นภาพซ้อน ตาไวต่อแสงแดด น้ำตาไหล ตาแห้ง และมองภาพไม่ชัดเจน ฯลฯ [3]
แสงสีฟ้าทำร้ายสมอง ส่งผลกระทบต่อความจำ สมาธิ เสี่ยงอาการทางระบบประสาท
ถ้าคุณคือ Genติดจอ ที่มีอาการติดมือถือ เช่น มักจะดูหนังดูซีรีส์บน Youtube หรือ Netflix รวดเดียวจบ แบบอดหลับอดนอน, มีการไถฝีดหน้าจอมือถือท่องโลกโซเชียล facebook Instagram TikTok ตลอดเวลา, มีการเล่นเกมออนไลน์ หรือคุณมีช่วงเวลาที่ต้องอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์นาน ๆ เช่น การเข้าร่วมการประชุมทาง Zoom นานถึง 3 ชั่วโมง เป็นต้น ซึ่งรู้หรือไม่ว่า การได้รับแสงสีฟ้านั้นมีทั้งประโยชน์และโทษ หากได้รับในปริมาณที่พอดีและช่วงเวลาที่เหมาะสม
การใช้โทรศัพท์มือถือหรือการได้รับแสงสีฟ้าในเวลากลางวัน มีส่วนทำเกิดความรู้สึกกระตือรือร้น มีส่วนช่วยให้เกิดเรียนรู้ ช่วยในการจดจำและอารมณ์ดีขึ้น
ในด้านตรงกันข้าม จากข้อมูลพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือของคนไทย ตั้งแต่ต้นปี 2565 ผลสำรวจพบว่า Genติดจอ ใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมง 48 นาที ไปกับแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีหลายคน อาจเล่นโทรศัพท์มือถือตั้งแต่ตื่นนอนไปจนถึงหลับตานอนไปพร้อม ๆ กัน (ข้อมูลรายงาน Digital Stat 2022 ของ We Are Social ที่จะเจาะลึก Data & Insight การได้รับแสงสีฟ้าจากการติดมือถือ)
ซึ่งในช่วงเวลาก่อนเข้านอน 2-3 ชั่วโมงนั้น เป็นช่วงเวลาที่กลไกในร่างกายหรือระบบการทำงานของร่างกาย ได้แก่สายตา ไต เยื่อหุ้มหัวใจ เริ่มเข้าสู่โหมดพักผ่อน แต่กลับถูกรบกวนจากแสงสีฟ้า ส่งผลให้สมองยังคงตื่นตัว และสั่งการไม่ให้หลั่งสารเมลาโทนินออกมา ทำให้ไม่รู้สึกง่วงแม้ว่าจะอยากนอนแค่ไหน เพราะยังคงถูกกระตุ้นด้วยแสง ซึ่งกลไกการนอนหลับจะเริ่มขึ้นเมื่อคุณปิดหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ภายในห้องมืดสนิท เพื่อให้สารเมลาโทนินทำงานได้
สารเมลาโทนิน เป็นฮอร์โมนสำคัญที่มีส่วนช่วยควบคุมการนอนหลับ ซึ่งแสงสีฟ้าจากหน้าจอมือถือมีส่วนทำให้ต่อมไพเนียล (Pineal gland) ที่สร้างฮอรโมนเมลาโทนิน (Melatonin) จากสมองลดน้อยลง และส่งผลกระทบทำให้นอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท และส่งผลกระทบต่อการตื่นที่มีส่วนทำให้ต้องเผชิญกับอาการเหนื่อยล้าในเช้าวันถัดไป อีกทั้งเกิดผลในระยะยาวเมื่อเราต้องนอนดึกบ่อย ๆ ก็จะส่งผลให้คุณภาพการนอนยิ่งแย่ลงเรื่อย ๆ และเมื่อเราต้องอดนอนบ่อย ๆ การตื่นเช้าก็ยิ่งไม่สดชื่น ไม่แจ่มใส อารมณ์หงุดหงิด สมองเบลอ ขี้หลงขี้ลืม เพราะนาฬิกาชีวิตที่ทำงานสัมพันธ์กับ Growth Hormone (ฟื้นฟูร่างกายขณะนอนหลับ), Cortisol Hormone (ฮอร์โมนความเครียด) แปรปรวนไปด้วย และสามารถเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อภาวะซึมเศร้าและปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ได้ อีกทั้งยังมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่แสงสีฟ้าจะรบกวนฮอร์โมนที่ควบคุมความหิวที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนได้ โดยทดสอบด้วยการเปรียบเทียบผลกระทบจากการได้รับแสงสีฟ้า กับแสงสีเขียวที่มีคลื่นความยาวในระดับถัดจากแสงสีฟ้าเพียงแถบเดียวเป็นเวลา 6 ชั่วโมงครึ่ง และยังพบว่าฮอร์โมนเมลาโทนีนที่มีหน้าที่ควบคุมนาฬิกาชีวิตนั้น ถูกยับยั้งโดยแสงสีฟ้า และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของนาฬิกาชีวิตในกลุ่มผู้ทดลองเป็นสองเท่าของแสงสีเขียวเลย [1] [2] [3]
วิธีหลีกเลี่ยงแสงสีฟ้าจากหน้าจอมือถือและการดูแลสุขภาพสมองไปพร้อม ๆ กัน
การหลีกเลี่ยงแสงสีฟ้าจากหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์คงเป็นไปได้ยาก ด้วยวิถีการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองคือสิ่งที่ดีที่สุดที่มีส่วนช่วยปกป้องสมองจากผลกระทบของแสงสีฟ้า
1.รักษาระยะห่างจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ
กลุ่มGenติดจอ หรือในผู้ที่ต้องใช้สายตาจ้องหน้าจอโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน ควรปรับระยะห่างระหว่างดวงตากับหน้าจอโทรศัพท์มือถือ รวมถึงการเลือกใช้โหมดแสงถนอมสายตา ที่ช่วยลดแสงสีฟ้าในหน้าจอโทรศัพท์มือถือลง และมีส่วนช่วยเลี่ยงการเกิดอาการตาล้าได้อีกด้วย
2.หาเวลาสำหรับการพักสายตาบ่อย ๆ
กลุ่มGenติดจอ ที่ต้องจ้องหน้าจอโทรศัพท์มือถือทั้งวัน ควรดูแลสมองถนอมดวงตาด้วยการใช้สูตร 20–20–20 คือการหาเวลาพักผ่อนสายตาในทุก 20 นาที ด้วยการเปลี่ยนมุมมองจากหน้าจอมือถือ หันไปหาวิวรอบตัวในระยะไกลประมาณ 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที ก็จะมีส่วนช่วยลดอาการเมื่อยล้าของดวงตาเพื่อปกป้องสมองของเราได้
3.ปรับแสงสว่างของสถานที่ให้เพียงพอ
การปรับสภาพแสงภายในห้องนอน ห้องทำงาน ห้องนั่งเล่น เป็นวิธีป้องกันผลกระทบจากแสงสีฟ้าที่ดีอีกวิธีหนึ่ง และควรปรับระดับของแสงสว่างที่หน้าจอโทรศัพท์มือถือให้เหมาะสม เพื่อการมองหน้าจออุมือถือที่สบายตามากขึ้น
4.รับประทานอาหารบำรุงสมอง เพื่อดูแลรักษาและป้องกันภาวะสมองพัง
เนื่องจากสมองต้องพึ่งพาสารอาหารจำเป็นจากอาหารในมื้อปกติทั้ง 5 หมู่ เพื่อดูแลและส่งเสริมการทำงานของสมองรวมไปถึงทุกส่วนในร่างกาย ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน เกลือแร่ ฯลฯ เราจึงควรกินอาหารอย่างหลากหลายให้ครบ 5 หมู่ และเพิ่มเติมเสริมสารอาหารที่มีส่วนช่วยลดอาการล้าของสมอง เพิ่มการไหลเวียนเลือดเข้าสู่สมอง ช่วยเพิ่มความจำ และบำรุงสมอง ดังนี้
พรมมิ (Bacopa) หรือ ผักมิ เป็นสมุนไพรที่มีคุณประโยชน์ต่อสมอง และนิยมนำมาบริโภคเป็นอาหาร ใช้กินเป็นผักลวกและจิ้มน้ำพริกกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งนอกจากจะมีคุณค่าทางโภชนาการมากมายแล้ว พรมมิ ยังมีสรรพคุณในการบำรุงสมอง ช่วยให้มีสมาธิ ช่วยในการจดจำ โดยเฉพาะในทางการแพทย์อายุรเวทของอินเดียก็นำคุณประโยชน์ของพรมมิมาใช้ในเรื่องของการเพิ่มความจำ ฟื้นฟูความจำ บำรุงสมอง ด้วยเช่นกัน
ในประเทศไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้แนะนำว่า สมุนไพรพรมมิ มีสารออกฤทธิ์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของความจำ การตัดสินใจ ช่วยปกป้องเซลล์สมอง มีฤทธิ์ต้านความจำเสื่อม มีส่วนช่วยในเรื่องของการนอนหลับ และลดความวิตกกังวลได้ดี
การศึกษาในต้นพรมมิ และสารสกัดพรมมิ (Bacopa Extract) พบว่ามีสารสำคัญที่จัดอยู่ในกลุ่มซาโปนิน (saponins) โดยสารสำคัญที่ออกฤทธิ์หลัก คือ bacoside A มีการศึกษากลไกการออกฤทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องระบบประสาทและสมองของพรมมิ รวมถึงการศึกษาพิษวิทยาของสารสกัดพรมมิ และการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่น ๆ ในพรมมิ ทั้งในระดับห้องทดลอง สัตว์ทดลองและการทดลองทางคลินิก (คน) โดยการวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พบว่าสารสกัดจากพรมมิ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุ โดยเพิ่มประสิทธิภาพการทรงตัว เพิ่มการตื่นตัวต่อสิ่งเร้า มีมาธิมากขึ้น เพิ่มความสามารถในการเรียนรู้และความจำ และไม่พบอาการพิษและภาวะข้างเคียงใดๆ ในอาสาสมัคร
จากการศึกษาพบว่าสารสำคัญในพรมมิมีคุณประโยชน์ต่อเซลล์ประสาทและสมอง เติมเต็มสมรรถภาพทางสมองและความจำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งยังมีผลการศึกษาวิจัยที่ยืนยันว่า พรมมิมีส่วนช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในด้านความจำและการทำงานของระบบการเรียนรู้ทั้งในกลุ่มเด็ก วัยรุ่น วัยกลางคน และกลุ่มผู้สูงอายุที่เริ่มมีปัญหาทางการทำงานของสมอง โดยมีรายงานการศึกษาในเด็กสมาธิสั้น อายุ 6-12 ปื รับประทานสารสกัดจากพรมมิ มาตรฐาน วันละครั้ง ระยะเวลา 6 เดือน พบว่าเด็กมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ดีขึ้น [9]
การทดสอบฤทธิ์เพิ่มความจำในอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 33 คน มีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 41.6 ปี ทดสอบด้วยวิธีให้อาสาสมัครได้รับสารสกัดพรมมิ วันละ 2 แคปซูล เป็นระยะเวลา 90 วัน เปรียบเทียบกับยาหลอก ผลการทดสอบพบว่าความจำแบบ working memory (หรือความจำขณะทำงาน หมายถึงความจำซึ่งใช้ในการดึงข้อมูลมาใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ ในขณะที่กำลังทำงาน) ของกลุ่มที่ได้รับสารสกัดพรมมิมีประสิทธิภาพที่ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก และการประมวลผลข้อมูลมีความผิดพลาดลดลง [10]
ในอาสาสมัครที่มีภาวะสูญเสียความจำเนื่องจากอายุมาก (อายุ 55 ปี ขึ้นไป) ให้รับประทานสารสกัดพรมมิ วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าอาสาสมัครสามารถควบคุมความคิด และจิตใจได้ดีขึ้น ความจำตรรกะ (logical memory) และการเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ดีขึ้น แสดงว่าพรมมิสามารถช่วยฟื้นฟูการสูญเสียความจำที่มีสาเหตุมาจากอายุที่มากขึ้น [11]
พรมมิ ยับยั้งการทำลายเซลล์ประสาทและสมอง พรมมิอุดมไปด้วยสาร Bacoside ที่มีคุณสมบัติเป็นสารพฤกษเคมีที่มีคุณสมบัติช่วยต้านอนุมูลอิสระ และส่งเสริมการทำงานของระบบประสาท โดย Bacoside ในพรมมิมีส่วนช่วยยับยั้งเอนไซม์แอซิติลโคลีนเอสเตอเรส (Acetylcholinesterase) ที่เข้าไปทำลายเซลล์ประสาทและสมอง จึงช่วยส่งผลดีต่อความจำ การเรียนรู้ และการทำงานของสมอง [12] รวมทั้งสารบาโคไซด์ (Bacosides) ยังมีส่วนช่วยในการยับยั้งปฏิกิริยาของเยื่อหุ้มเซลล์และสารก่อโรคพรีออนโปรตีน (PrP) ทำให้สามารถลดความรุนแรงและการสะสมของโปรตีน เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) หนึ่งในสาเหตุหลักของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ [13]
พรมมิช่วยผ่อนคลายและบรรเทาความเครียด พรมมิช่วยบรรเทาและผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน ลดหรือคลายความวิตกกังวล เพราะสารสำคัญในพรมมิมีส่วนช่วยลดระดับของฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่เกี่ยวข้องกับความเครียดความกังวล โดยมีวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine (2013) พบว่าผู้ที่รับประทานพรมมิเป็นประจำมีระดับคอร์ติซอลลดลง และมีอารมณ์ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด [14]
พรมมิมีส่วนช่วยขยายหลอดเลือดในสมอง พรมมิมีส่วนช่วยในการขยายขนาดของหลอดเลือดในสมอง ทำให้เกิดการหมุนเวียนเลือดที่ดีขึ้น ส่งผลให้ออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น ทำให้เซลล์สมองแข็งแรงและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ [15]
พรมมิช่วยลดการอักเสบ การศึกษาพบว่าสารสกัดจากพรมมิสามารถยับยั้งการหลั่งของไซโตไคน์ (Cytokines) ที่ก่อให้เกิดการอักเสบ เช่น โปรตีน Tumor Necrosis Factor-alpha (TNF-α) ที่มีบทบาทในการกระตุ้นการอักเสบ และโปรตีน Interleukin-6 (IL-6) ที่มีบทบาทในควบคุมกระบวนการอักเสบ, การเจริญเติบโตของเซลล์เม็ดเลือด และการกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน จากเซลล์ไมโครเกลีย ((Microglia) ที่เป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันหลักที่อยู่ในระบบประสาทส่วนกลาง ทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมและควบคุมสภาพแวดล้อมในสมองให้ปลอดภัย จึงทำให้ลดการเกิดการอักเสบเรื้อรังในระบบประสาทได้ [16]