อาการขี้ลืมบ่อยนั้นมีหลายแบบ เช่น ลืมวันสำคัญ ลืมวันเกิด ลืมนั่น โน่น นี่ ลืมเพราะไม่มีสมาธิ ลืมเพราะตื่นเต้น ลืมเพราะกำลังทำอะไรหลายอย่างไปพร้อม ๆ กัน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก แต่อาการ “ลืม” เหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนถึงการเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อมจากโรค “อัลไซเมอร์” ได้เช่นกัน
ทุกระบบในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปตามการเจริญวัยอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะระบบประสาทและสมอง จนเมื่ออายุที่มากขึ้นก็เริ่มเสื่อมถอย เพราะสมองแต่ละช่วงวัยมีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกัน ช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นจะมีการใช้ประสิทธิภาพของสมองได้อย่างเต็มที่ หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ลดลงในช่วงอายุ 45 ปีเป็นต้นไป รวมถึงเริ่มมีการเสื่อมของสมองในช่วงที่อายุมากขึ้น และนำไปสู่การเป็นโรคสมองเสื่อมซึ่งมีสาเหตุมาจากโรคอัลไซเมอร์ได้
สมองเป็นอวัยวะที่มีหน่วยความจำซึ่งเรียกว่าเซลล์ประสาทจำนวนหลายหมื่นล้านเซลล์ ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เกือบทั้งหมด รวมไปถึงควบคุมการทำงานของกระบวนการคิด การตัดสินใจ การควบคุมอารมณ์ ควบคุมพฤติกรรม ฯลฯ โดยผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมจะมีอาการความจำเสื่อม กระบวนการทางความคิดบกพร่อง เกิดการตัดสินใจช้า คิดช้า ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ความเฉลียวฉลาดลดลง มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม ส่วนมากจะมีสภาพแย่ลงคล้ายกลับไปเป็นเด็ก จนในระยะสุดท้ายก่อนเสียชีวิติแทบจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้หรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย โดยภาวะสมองเสื่อมนั้นถูกแบ่งสาเหตุของโรคออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
กลุ่มที่รักษาให้หายได้ หรือไม่ทรุดลงไปอีก พบประมาณถึงร้อยละ 20 ของผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม โดยมีสาเหตุที่มักเกิดจากโรคทางกาย เช่น เคยป่วยหรือป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน เลือดออกในสมอง เนื้องอกในสมองบางชนิด โรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมน และขาดวิตามินบี12
กลุ่มที่รักษาไม่หายเพียงแต่ช่วยบรรเทาให้ทุเลาพร้อมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พบมากถึงร้อยละ 80 ของผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม ซึ่งโรคที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มหลังนี้คือ โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ซึ่งไม่จำเป็นต้องสูงวัยก็เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ !
โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer Disease) เป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคสมองเสื่อมที่พบได้มากถึง 60% - 80% ของกลุ่มผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั้งหมดรวมไปถึงผู้สูงอายุ ซึ่งในปัจจุบันยังพบผู้ที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์มากขึ้น เนื่องจากโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่มีความเสื่อมถอยของระบบการทำงานของสมอง หรือภาวะเซลล์สมองเสื่อมก่อนวัยอันควร อันมีสาเหตุมาจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า
*เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid)
*เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) เกิดจากของเสียที่เกิดจากการสันดาปของเซลล์ (สันดาป คือกระบวนการสร้างหรือใช้พลังงานเพื่อการเจริญเติบโตหรือการทำงานของเซลล์) สะสมเพิ่มมากขึ้น และมีการตกตะกอนนอกเซลล์ประสาทสมอง หรือเข้าไปสะสมในผนังหลอดเลือดในสมองแล้วกระตุ้นให้เกิดการอักเสบและทำลายเซลล์ประสาทสมองในบริเวณนั้นให้เสียหายหรือตายในที่สุด เบต้า-อะไมลอยด์ยังไปดักจับกับเซลล์สมองหรือทำลายเซลล์สมองในส่วนอื่น ๆ รวมไปถึงการทำให้สารสื่อประสาทอะซีติลโคลีน (Acetylcholine) ที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำลดลง และทำให้เป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์แม้จะยังมีอายุไม่มาก
ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์
- ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
- พันธุกรรม มีคนในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์มาก่อน
- โรคดาวน์ซินโดรม ผู้ป่วยโรคดาวน์ซินโดรมนี้มีความผิดปกติของการสะสมของโปรตีนบางชนิด ซึ่งทำให้สามารถเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้
- ได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ จะเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์มากกว่าคนทั่วไป
- มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคซึมเศร้า โรคหลอดเลือดสมอง
- พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ขาดการออกกำลังกาย นอนหลักไม่พียงพอ สูบบุหรี่ดื่มแอลกอฮอลล์ ฯลฯ
โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงานที่ทุกวันนี้ไม่มีเวลาดูแลตัวเองเลย เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับระบบประสาทและสมอง อันเนื่องมาจากเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายและสมองเริ่มหยุดการพัฒนา เกิดอนุมูลอิสระจำนวนมากที่สมอง ระดับฮอร์โมนเริ่มเสื่อมถอย และเริ่มมีความรู้สึกสมองล้า ขี้ลืมบ่อย ซึ่งในผู้ที่มีเริ่มมีภาวะอัลไซเมอร์นั้นจะไม่ได้มีแค่ความบกพร่องทางด้านความทรงจำเท่านั้น แต่จะรวมถึงด้านอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ การใช้ความคิด การตัดสินใจ การทำความเข้าใจต่อสิ่งต่าง ๆ การเรียนรู้ การฝึกปรือ การใช้ภาษา การเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ ดังนั้น
การสังเกตความเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
อาการเบื้องต้นของผู้ที่มีภาวะอัลไซเมอร์ในคนอายุน้อยหรือวัยทำงาน สามารถสังเกตได้ง่าย เช่น
- ชอบถามคำถามเดิม ซ้ำ ๆ
- ความจำสั้น หลงลืมบ่อย ลืมเรื่องง่าย ๆ อย่างสถานที่ที่เพิ่งไปมา
- ลืมนัดสำคัญ ลืมวันสำคัญ ลืมวันเดือนปี หรือลืมแม้กระทั่งวันเกิดตัวเอง
- ต้องคอยมีคนเตือนให้ทำกิจกรรมที่จำเป็น
- เศร้าหมอง ซึม ไม่ค่อยพูดจา ร้องไห้บ่อย แยกตัวออกจากสังคม
- เริ่มมีความยุ่งยากในการคิดเลข คิดเงิน หรือจัดการดูแลเงินทองไม่ได้
- ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบทำ ไม่สนใจงานอดิเรกที่เคยทำ
- เริ่มจะต้องการให้มีคนคอยช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวัน เช่น การกินอาหาร
- เริ่มมีปัญหาเรื่องทิศทาง จำทิศทางไม่ได้ ขับรถหลง ขับอันตรายไม่ปลอดภัย ผิดพลาดในการกะระยะ
- หงุดหงิด วีนง่าย ช่างสงสัย และเริ่มเห็น ได้ยิน เชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นจริง
- บุคลิกภาพเปลี่ยน เช่น พูดไม่ได้ใจความ บางครั้งพูดติดขัด หรือเรียกชื่อคนสิ่งของไม่ถูก พูดไม่จบประโยค
คนปกติคะแนนรวม < 4 แต่หากอยู่ในข่ายสงสัยว่าจะมีภาวะอัลไซเมอร์จะมีคะแนนรวม > 4
ปลดล็อกสมองล้า ป้องกันปัญหาภาวะสมองเสื่อมอัลไซเมอร์
เพราะอัลไซเมอร์เป็นแล้ว ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถชะลอความเสื่อมของเซลล์สมองได้ในกรณีที่สังเกตอาการ พฤติกรรมและตรวจพบแต่เนิ่น ๆ รวมไปถึงการปกป้องดูแลสมองไม่ให้มีภาวะอัลไซเมอร์ที่ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ด้วยการ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว, หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์, มีกิจกรรมฝึกสมอง, อารมณ์ดีไม่เครียด, ระวังการเกิดอุบัติเหตุทางสมอง, ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ, นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และกินอาหารบำรุงสมองที่มีประโยชน์ต่อระบบประสาทและสมอง ช่วยเสริมสร้างการทำงานของเซลล์สมอง หรือ
วิตามินบำรุงสมองที่จำเป็นในผู้ที่สมองล้า ขี้ลืมบ่อย เสี่ยงโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ได้แก่...
1. พรมมิ บำรุงสมองป้องกันอัลไซเมอร์
พรมมิ (Bacopa) มีสรรพคุณที่มีส่วนช่วยในผู้ที่มีอาการสมองล้า ขี้ลืมบ่อย และในผู้ที่เสี่ยงโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ โดยเฉพาะในทางการแพทย์อายุรเวทของอินเดียใช้คุณประโยชน์ของพรมมิในเรื่องของการเพิ่มความจำ ฟื้นฟูความจำ บำรุงสมอง ซึ่งมีงานวิจัยรองรับมากมาย โดยพรมมิได้ถูกนำมาศึกษาทั้งในประเทศอินเดีย ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และประเทศไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ได้ประกาศให้ทุนวิจัยในลักษณะบูรณาการเพื่อวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทย เมื่อปี พ.ศ. 2548
พบว่าคุณค่าของพรมมินั้นมีมากกว่าการเป็นต้นพืชริมตลิ่ง ที่มีคุณสมบัติโดดเด่นในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพด้านความจำ การเรียนรู้ของสมอง ลดอาการหลงลืม โดยมีการศึกษาทั้งในด้านของวัตถุดิบที่เป็นต้นผักมิหรือต้นพรมมิ, สารสกัดพรมมิ (Bacopa Extract), สารผสมซาโปนิน (saponins) ที่ได้จากพืชพรมมิ ที่เรียกว่า bacoside A และในรูปแบบของสารบริสุทธิ์ ศึกษากลไกการออกฤทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องระบบประสาทและสมองของพรมมิ รวมถึงการศึกษาพิษวิทยาของสารสกัดพรมมิ และการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่น ๆ ในพรมมิ และได้เห็นถึงองค์ประกอบทางเคมี ทางเภสัชวิทยาและความปลอดภัยของสมุนไพรพรมมิ ทั้งในระดับห้องทดลอง สัตว์ทดลองและคน
ประโยชน์ของสารสำคัญในพรมมิ
- พรมมิ บำรุงสมอง ช่วยเพิ่มความจำ พรมมิมีสารสำคัญที่อยู่ในกลุ่มอัลคาลอยด์ ได้แก่ ซาโปนิน (Saponin), ไตรเทอร์ปีน (Trierpenes), บาโคไซด์ เอ (Bacosides A), บาโคไซด์ บี (Bacosides B), บาโคซัปโปไนน์ดี (Bacosaponines D), ที่มีส่วนช่วยเพิ่มปริมาณของเซลล์ประสาทคอลิเนอร์จิก (Cholinergic Neuron) ซึ่งทำหน้าที่ในการกระตุ้นสารสื่อประสาทแอซิติลโคลีน (Acetylcholine) ช่วยให้การทำงานของสารสำคัญต่าง ๆ ในระบบประสาทและสมองมีความต่อเนื่อง ช่วยให้กระบวนการคิด การประมวลผล และความจำดีขึ้น
มีผลการศึกษาที่ได้วิจัยประสิทธิภาพของสารสกัดพรมมิที่มีต่อระบบความจำในกลุ่มนักศึกษาแพทย์ (อายุ 19 - 22 ปี) เป็นเวลา 6 สัปดาห์ ผลการประเมินความทรงจำด้วยการ digit span test (เป็นแบบทดสอบที่นำมาใช้พูดทวนซ้ำชุดตัวเลข เพื่อทดสอบปัญญาในด้านความจำ) และ logical memory test (แบบทดสอบทางประสาทจิตวิทยาในส่วนที่เกี่ยวกับความจำข้อมูลที่เป็นเรื่องราว)
มีผลการศึกษาที่ได้วิจัยประสิทธิภาพของพรมมิในการทดสอบความจำของกลุ่มวัยกลางคน (อายุ 40 - 65 ปี) พบว่า พรมมิมีผลต่อการเก็บข้อมูลใหม่ด้วยวิธี Delayed recall of the word pairs (การทดสอบความจำข้อมูล)
มีผลการศึกษาที่ได้วิจัยประสิทธิภาพของพรมมิต่อระบบความจำและการเรียนรู้ในกลุ่มอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี (อายุ 18 - 60 ปี) พบว่า พรมมิมีส่วนช่วยเพิ่มกระบวนการประมวลภาพ (visual processing speed by IT task) รวมถึงอัตราการเรียนรู้และกระบวนการเกิดความจำ (learning rate and memory consolidation by AVLT)
- พรมมิ ยับยั้งการทำลายเซลล์ประสาทและสมอง พรมมิอุดมไปด้วยสาร Bacoside ที่มีคุณสมบัติเป็นสารพฤกษเคมีที่มีส่วนสำคัญต่อระบบประสาท โดย Bacoside ในพรมมิมีส่วนช่วยยับยั้งไม่ให้อนุมูลอิสระชนิดหนึ่งที่ชื่อเอนไซม์แอซิติลโคลีนเอสเตอเรส (Acetylcholinesterase) เข้าไปทำลายเซลล์ประสาทและสมอง รวมทั้งสารบาโคไซด์ (Bacosides) ยังมีส่วนช่วยในการยับยั้งปฏิกิริยาของเยื่อหุ้มเซลล์และสารก่อโรคพรีออนโปรตีน (PrP) ทำให้สามารถลดความรุนแรงและการเป็นพิษของโปรตีน เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) หนึ่งในสาเหตุหลักของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้
- พรมมิมีส่วนช่วยขยายหลอดเลือดในสมอง พรมมิมีส่วนช่วยในการขยายขนาดของหลอดเลือดในสมอง ทำให้เกิดการหมุนเวียนเลือดที่ดีขึ้น ส่งผลให้ออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น สู่การทำให้เซลล์สมองแข็งแรงและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- พรมมิช่วยผ่อนคลายและบรรเทาความเครียด พรมมิช่วยบรรเทาและผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน ลดหรือคลายความวิตกกังวล เพราะสารสำคัญในพรมมิมีส่วนช่วยลดระดับของฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ตัวการทำให้เกิดความเครียดความกังวล
- พรมมิช่วยลดการอักเสบ พรมมิออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งสารไซโตไคน์ (Cytokines) ซึ่งเป็นสารสำคัญในกลุ่มโปรตีนที่หลั่งออกมาจากเซลล์ ซึ่งหากเซลล์มีภาวะการหลั่งสารไซโตไคน์ออกมามากจนเกินไป หรือที่เรียกว่าพายุไซโตไคน์ จะส่งผลด้านลบต่อเซลล์และก่อให้เกิดการอักเสบที่อาจส่งผลทำให้ระบบอวัยวะต่าง ๆ ภายในล้มเหลวได้
สารสำคัญในพรมมิมีคุณประโยชน์ต่อเซลล์ประสาทและสมอง เติมเต็มสมรรถภาพทางสมองและความจำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งยังมีผลการศึกษาวิจัยอีกจำนวนหนึ่งที่ยืนยันว่า พรมมิมีส่วนช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในด้านความจำและการทำงานของระบบการเรียนรู้ทั้งในกลุ่มวัยรุ่น วัยกลางคน และกลุ่มผู้สูงอายุที่เริ่มมีปัญหาทางการทำงานของสมอง (ช่วงอายุ 18-60 ปี)
2.โสมเกาหลี มีประโยชน์บำรุงสมอง
โสมเป็นสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้เป็นยารักษาโรคมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียที่เชื่อว่า
โสมเกาหลีมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคทางระบบประสาทและสมอง เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง อัลไซเมอร์ หรือความผิดปกติของระบบประสาทชนิดเฉียบพลันหรือชนิดเรื้อรังอื่น ๆ โดย
รากของโสมเกาหลีมีสารสำคัญที่ชื่อว่า จินเซ็นโนไซด์ (Ginsenosides) ที่มีมากกว่า 150 ชนิดและพบได้ในโสมเท่านั้น ที่สำคัญ มีคุณประโยชน์มากมายต่อสมองของเรา อีกทั้งยังมีส่วนช่วยบรรเทาภาวะเครียดจากออกซิเดชัน (Oxidative Stress) หรือมีส่วนช่วยป้องกันและบรรเทาความเสียหายของเซลล์ประสาทที่เป็นผลมาจากโรคหลอดเลือดสมองอีกด้วย
มีผลการศึกษามากมายที่เกี่ยวข้องกับสมอง พบว่าเซลล์ประสาทและสมองมีแนวโน้มที่จะถูกทำลายโดยสารอนุมูลอิสระที่มาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น จาการใช้ชีวิตประจำวันที่เสี่ยงต่อการได้รับมลพิษ การกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ การขาดวิตามินบี12 และพบว่าสมองของคนเราเริ่มเกิดความเสื่อมจากวัย (Age related cognitive decline) โดยเริ่มตั้งแต่อายุเพียง 20 - 30 ปีเท่านั้น โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงาน และจากผลการศึกษาต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ค้นพบความลับของสารสำคัญในโสมเกาหลี ดังนี้
- โสมเกาหลี ดีต่อระบบการเรียนรู้และการจดจำ สารจินเซ็นโนไซด์ ชนิด Rb1 ในโสมเป็นสารสำคัญที่มีฤทธิ์ต่อต้านสารอนุมูลอิสระที่จะมาทำลายเซลล์สมองให้เสื่อมโทรม มีส่วนช่วยส่งเสริมการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองและระบบประสาทส่วนกลางที่มีชื่อว่า อะเซทิลโคลีน (Acetylcholine) ที่ส่งผลโดยตรงต่อระบบประสาท Cholinergic มีความเกี่ยวข้องกับระบบการจดจำและเรียนรู้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสารสื่อประสาท GABA ในสมองให้ผ่อนคลายความวิตกกังวล เสริมสร้างสมาธิตลอดจนกระบวนการคิดและประมวลผลข้อมูล
- โสมเกาหลี ช่วยลดภาวะความเครียด สารจินเซ็นโนไซด์ ชนิด Rb1 ในโสม ออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Serotonin) ฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่เป็นสารเคมีแห่งความสุข ความเศร้า โดยช่วยลดภาวะความเครียดเรื้อรังในสมอง ส่งผลให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- โสมเกาหลี ช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองดีขึ้น สารจินเซ็นโนไซด์ ชนิด Rb1 ในโสมเกาหลี มีส่วนช่วยคลายกล้ามเนื้อที่ผนังหลอดเลือด ยับยั้งการแข็งตัวของผนังหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงสมองได้ดี มีส่วนช่วยในการป้องกันเซลล์ประสาทของสมองส่วน hippocampus จากภาวะการขาดเลือด (Ischemic) ได้อีกด้วย
สารจินเซ็นโนไซด์ แต่ละชนิดมีผลต่อสมองด้วยระบบกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน เช่น ชะลอและป้องกันการเสื่อมสภาพของเซลล์ประสาท (apoptosis) ความผิดปกติของไมโตคอนเดรีย (mitochondria dysfunction) ลดการสะสมของโปรตีนเบต้า-อะไมลอยด์ โดยช่วยลดการเกิดของอนุมูลอิสระ ROS ซึ่งจากข้อสรุปหรือการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด พบว่าโสมเกาหลีมีประโยชน์ต่อสมอง สุขภาพและคุณภาพชีวิต ทั้งในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงปกติทั่วไปหรือผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมได้จริง แต่ก็ยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันคุณประโยชน์ของโสมบำรุงสมองให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
3. วิตามินบำรุงสมอง
รู้ไหมว่า สาเหตุของการเกิดอาการสมองล้า ขี้หลงขี้ลืม และมีภาวะสมองเสื่อมนั้นมีสาเหตุมาจากการที่สมองเกิดความเสียหายหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงจนกระบวนการทำงานของระบบประสาทและสมองเสื่อมลง การขาดวิตามินบี 12 อาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุในการเกิดภาวะเสื่อมถอยต่าง ๆ เหล่านี้
วิตามินบี12 หรือโคบาลามิน (Cobalamin) เป็นวิตามินชนิดที่ละลายได้ในน้ำ มีแร่ธาตุโคบอลท์เป็นองค์ประกอบ ส่วนใหญ่แล้วจะพบในอาหารจำพวก เนื้อสัตว์ ปลา ปู กุ้ง หอย ไข่ นม เครื่องในสัตว์ นม ผลิตภัณฑ์จากนม เป็นต้น ซึ่งวิตามินบี12 นั้น มีบทบาทสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์สารพันธุกรรม (DNA และ RNA) รวมทั้งสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงและเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย สังเคราะห์โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบประสาทและสมอง โดยเร่งปฏิกิริยาสังเคราะห์ methionine เพื่อสร้างสารสื่อประสาทและการส่งสัญญาณประสาท หากขาดวิตามินบี12 อาจเสี่ยงต่อโรคทางระบบประสาทและสมองได้
จะมีอาการอย่างไรเมื่อร่างกายขาดวิตามินบี12
- การทำงานของระบบประสาทผิดปกติ มีอาการสมองล้า การรับรู้ช้าลง หลงลืมได้ง่าย
- มีอาการซีดจากภาวะโลหิตจาง หรือมีอาการตัวเหลือง
- มีอาการชาตามปลายมือและปลายเท้า
- มีอาการอ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีแรง
- มีความรู้สึกเบื่ออาหาร
(แต่ผู้ที่มีปริมาณวิตามินบี12 ในเลือดต่ำส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ อาการเหล่านี้จะพบได้ในบางรายเท่านั้น)
ซึ่งสาเหตุของภาวะร่างกายขาดวิตามินบี12 นั้นล้วนมาจาก กินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ กินอาหารประเภทเนื้อสัตว์น้อยลง กินอาหารมังสวิรัติเป็นเวลานาน และในผู้สูงอายุที่กินอาหารได้น้อย
และเนื่องจากร่างกายคนเราไม่สามารถสังเคราะห์วิตามินบี12 ได้เอง จึงจำเป็นต้องได้รับวิตามินบี12 ผ่านทางอาหารหรืออาหารเสริมจำพวกวิตามินบำรุงสมองเท่านั้น หากเราได้รับวิตามินบี12 ไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดภาวะการขาดวิตามินบี12 ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายได้
เพราะทุกคนก็ต้องการมีสมองสมบูรณ์ดีอยู่กับตัวเองให้นานที่สุด การให้ความสำคัญกับอาหารบำรุงสมอง ด้วยการเลือกสารอาหารที่เหมาะสมร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ช่วยให้มีสมองที่เปี่ยมประสิทธิภาพอยู่กับเราไปตราบนานเท่านาน
ที่มา:
[1] รู้เท่าทันโรคสมองเสื่อม / คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
[2] สมองล้า ขี้ลืมบ่อย เสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อม / สสส
[3] ลืมง่าย จำยาก เสี่ยงอัลไซเมอร์
[4] อัลไซเมอร์กับภาวะสมองเสื่อม / รพ.เอกชัย
[5] 5 สัญญาณเตือนเสี่ยงอัลไซเมอร์
[6] พรมมิ สมุนไพรบำรุงความจำ / สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนเรศวร
[7] ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
[8] พรมมิ สมุนไพรพื้นบ้านบำรุงสมองที่รักคนสุขภาพไม่ควรมองข้าม / GPOPLANETองค์การเภสัชกรรม
[9] ผลทางเภสัชวิทยาของสารจินเซ็นโนไซด์ในโสม / วารสารพยาบาลทหารบก
[10] โสม กับคุณประโยชน์ทางการแพทย์
[11] การขาดวิตามิน บี 12
[12] วิตามินบี12 / สำนักโภชนาการ